หน้าที่ของยางในรถตักล้อยางนั้นจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันจากยางรถยนต์ในบางส่วน และทั้งนี้เนื่องจากการใช้งานรถตักในการหมุนเคลื่อนตัวไปตามสภาพพื้นผิวที่ดินที่แตกต่างกันมากตั้งแต่ ราบ เรียบ ขรุขระ หลุมบ่อ ที่เปียกแฉะที่เป็นหิน เป็นต้น ซึ่งโอกาสที่ได้วิ่งบนพื้นที่ราบเรียบมีไม่มากจึงต้องแบ่งให้มีการเกิดหน้าที่ของล้อยางขึ้นมา โดยหน้าที่ของล้อยางมีดังนี้
- รองรับน้ำหนักของตัวรถโดยให้มีแรงกดอัดตัวกับดินระดับตื้นๆ
- ลดการสั่นสะเทือนจากการวิ่งบนพื้นที่ขรุขระได้ดี ให้มีความนุ่มนวลในการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้น
- ให้มีความเหมาะสมในการฉุดลากและความเร็วในการเคลื่อนตัวและหยุดได้รวดเร็วเมื่อทำการเบรก
- ช่วยให้สามารถบังคับรถได้ง่ายขึ้น มีการทรงตัวในขณะเลี้ยวได้ดี และเปลี่ยนทิศทางไปได้ตามความประสงค์
- ต้องมีความทนทานต่อการสึกหรอที่จะเกิดขึ้นกับสภาพการทำงานในสภาวะต่างๆได้ดี
โครงสร้างพื้นฐานของยางรถตัก
โครงสร้างของยางแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

1.เนื้อยาง
- หน้ายาง เป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของยางและสัมผัสกับพื้นผิวดิน มีหน้าที่ป้องกันสิ่งมีคมที่จะทำอันตรายต่อโครงของยาง บริเวณหน้ายางนั้นจะประกอบไปด้วยดอกยาง และ ร่องยาง เพื่อทำหน้าที่ในการยึดเกาะกับผิวหน้าดิน ทำให้มีแรงฉุดลากที่ดี ดอกยางมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดนั้นก็จะให้ประสิทธิภาพในการใช้งานแตกต่างกันออกไปตามจุดประสงค์การใช้งาน
- ไหล่ยาง เป็นส่วนของเนื้อยางที่หนาอยู่ถัดจากดอกยางทั้งสองข้าง หน้าที่ของไหล่ยางนั้นก็คือ ช่วยป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นกับโครงสร้างยางและยังมีส่วนช่วยในการถ่ายเทความร้อนอีกด้วย
- แก้มยาง เป็นส่วนนอกสุดของยางที่ไม่ได้สัมผัสกับผิวดิน ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างยาง และ เป็นส่วนที่ยืดหยุ่นตัวได้มากที่สุดของยาง
2.โครงยางรถตัก
โครงยางเป็นส่วนประกอบหลักของยางที่มีความสำคัญในการรักษาความดันลมภายในยางทั้งนี้เพื่อให้ยางสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้นและทนต่อแรงกระแทก โครงยางประกอบไปด้วยชั้นของผ้าใบที่มีการวางแบบวงขวางและวางตามรัศมี โครงยางจะต้องมีความแข็งแรงมาก เพื่อให้ยางสามารถบิดตัวจากรูปเดิมได้น้อยที่สุด
3.ผ้าใบเสริมหน้ายางและเข็มขัดรัดหน้ายางรถตัก
ผ้าใบเสริมหน้ายาง และ เข็มรัดหน้ายางคือส่วนที่อยู่ระหว่างหน้ายางกับโครงยาง ถ้าเป็นยางธรรมดา เรียกส่วนนี้ว่า ผ้าใบเสริมหน้ายางและหากเป็นยางเรเดียล ก็จะเรียกว่า เข็มรัดหน้ายาง ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยให้ยางมีความแข็งแรงขึ้น รับแรงกระแทกได้ดี และช่วยป้องกันไม่ให้โรงยางชำรุดอย่างรวดเร็ว
4.ขอบยางรถตัก
บริเวณขอบยางนี้มีกลุ่มเส้นลวดหุ้มด้วยยางเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับขอบยาง เมื่อถูกล้อหมุนจะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลางของยางออกจากกระทะล้อ แรงนี้จะพยายามฉุดให้ขอบยางหลุดออกจากกะทะล้อให้ได้ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ยางหลุดออกจากกระทะล้อที่ความเร็วรอบสูง จึงได้นำผ้าใบติดหุ้มกลุ่มเส้นลวดรูปวงกลมให้แน่นพอดีกับกระทะล้อ หลังจากได้เติมลมยางเข้าไปแล้วจะทำให้ขอบยางนั้นมีความกระชับแน่นขึ้น ยางพองตัวแนบกระทะล้อและยังป้องกันความเสียหายตามขอบเนื่องจากการเสียดสี โดยเฉพาะสำหรับยางที่ไม่มียางในบริเวณขอบยางจึงมีความเป็นสำคัญเป็นอย่างมาก
ที่มา: www.bkkauction.com